
อาคาร
ห้องครุฑ- ห้องรับประทานอาหาร
ห้องครุฑ เป็นห้องสำหรับรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการ ภายในห้องจัดแสดงครุฑ ผลงานของศิลป์ พีระศรีและลูกศิษย์ ตั้งโดดเด่นอย่างน่าเกรงขามเป็นประธานของห้อง รายล้อมด้วยเสาไม้แกะสลักทรงกลมผลงานศิลปะของถวัลย์ ดัชนี ลวดลายต่างกันถึง 8 ต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานของถวัลย์ ดัชนี อีกหลายชิ้นที่บริเวณด้านหลังห้อง อาทิเช่น จิตรกรรมภาพวาดสีน้ำมันขนาด 2 เมตร ที่แสดงการถอดหรือการเปลื้องเครื่องแต่งกาย อันสื่อถึงการออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะที่เรียกว่าการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เพื่อออกแสวงหาโมกขธรรม เครื่องปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่พระองค์และแก่ชาวโลกจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีด 2 ชิ้นได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบรูปทรงของโลหะมาจากสัตว์ 2 ชนิด ด้ามจับเป็นเขี้ยวหรือเขารูปทรงธรรมชาติซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของถวัลย์ อีกทั้งยังมีภาพเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับครุฑ ๔ ภาพ ซึ่งเป็นผลงานของพัฒน์ดนู เตมีกุล ประดับอยู่ด้านข้างของห้องทั้งสองฝั่ง และประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำพระนารายณ์ทรงสำราญอิริยาบถที่ออกแบบมาสำหรับห้องครุฑนี้โดยเฉพาะ
ห้องพาเลอร์ – ห้องรับรอง
ห้องรับรองแขกที่ตกแต่งในสไตล์โมเดิร์น ใช้โทนสีอ่อน สบายตา เช่น ไม้ปาร์เกต์สีอ่อน วอลเปเปอร์สีอ่อน และการเลือกใช้แชนเดอเลียร์สีขาวของ Flos Zeppelin S1 ออกแบบโดย Marcel Wanders ในปี 2005 กับเฟอร์นิเจอร์วินเทจ ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมงานศิลปะภายในห้องให้โดดเด่น สวยงาม สะดุดสายตา งานศิลปะภายในห้องประกอบด้วยผลงานจากศิลปินชั้นครู ศิลปินชั้นเยี่ยม อาทิเช่น ชลูด นิ่มเสมอ, อวบ สาณะเสน, สวัสดิ์ ตันติสุข, ชำเรือง วิเชียรเขต, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอลเลคชั่นผลงานสำคัญของปรีชา เถาทอง จากปี 2015 จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปินได้เป็นอย่างดี
โถงบันได
โถงที่มีความสูงถึง 21 เมตร เป็นตัวเชื่อมไปยังห้องในชั้นต่างๆ ด้วยการออกแบบให้มีการไขว้กันของบันไดแต่ละชั้น ส่วนบนสุดของโถงบันได เป็นโดมหล่อคอนกรีตที่เปิดรับแสงธรรมชาติจากภายนอก รองรับด้วยเสารูปตัว X มองจากด้านบนลงมา จะเห็นบันไดทรงก้นหอย บนผนังและพื้นหินขัดสีมัสตาร์ด ที่ให้มุมมองแปลกตาอย่างน่าสนใจ
ห้องทำงาน
ห้องทำงานส่วนตัวของเสริมคุณที่ออกแบบห้องในรูปแบบ Victorian Study Room ห้องอ่านหนังสือสไตล์วิคตอเรียน ตกแต่งภายในด้วยสไตล์ อีเคลคทิค (Eclectic) จากเฟอร์นิเจอร์ต่างรูปทรง ต่างวัสดุ ต่างสไตล์ จากต่างยุคสมัยนำมาจัดวางร่วมกันอย่างลงตัว ความพิเศษของห้องที่สัมผัสได้จึงไม่ใช่การถอดแบบความเป็น Victorian Study Room สไตล์ตะวันตกอย่างต้นฉบับ แต่ด้วยเครื่องเรือนที่แตกต่างและสไตล์การจัดวาง ทำให้บรรยากาศของห้องมีความผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ภายในห้องจัดวางผลงานศิลปะมากมาย เช่น ประติมากรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, เขียน ยิ้มศิริ, ผลงานจิตรกรรมของ วสันต์ สิทธิเขตต์ อีกทั้งยังเป็นที่รวมคอลเลคชั่นประติมากรรมและจิตรกรรมของศิลปิน Cubism คนสำคัญของเอเชียอย่าง สมโภชน์ อุปอินทร์ นอกจากนี้ ศิลปินที่เจ้าของบ้านชื่นชอบเป็นพิเศษอีกหนึ่งท่าน คือ มณเฑียร บุญมา โดยจัดแสดงผลงานถึง 5 ชิ้น จากจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน จวบจนผลงานชุดท้ายๆของชีวิต
คชาเลานจ์ - ห้องฟังเพลง
ห้องคชาเลานจ์ คือ ห้องสำหรับฟังเพลงหรือจัดปาร์ตี้สังสรรค์ภายในบ้าน แบ่งเป็น 2 ชั้น สามารถรองรับคนได้สูงถึง 60 คน เพดานห้องกรุกระจกเงา เพิ่มมิติห้องให้ดูโปร่ง กว้างขวาง ทันทีที่ก้าวเข้ามาในชั้น 1 ของห้อง ทางด้านขวาจะพบเคาน์เตอร์บาร์ที่ผสมผสานความวินเทจของเตาผิงในยุคต้นศตวรรษที่ 20 กับหินอ่อนสไตล์โมเดริน์ ทั้งชั้นบนและชั้นล่างตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ยุควินเทจและสไตล์วินเทจหลายชุด หลากอารมณ์ ตกแต่งกระจายภายในห้อง
จุดเด่นของห้องคือการจัดวางประติมากรรม ‘คชา’ เป็นประธานกลางห้อง รอบห้องรายล้อมด้วยผลงานศิลปะในสไตล์เซอร์เรียลลิสต์จากหลากหลายศิลปินที่แตกต่างกันทั้งยุคสมัยและเชื้อชาติผสมผสานกัน สอดแทรกภาพ ‘คน’ ที่อยู่ในอารมณ์หรืออิริยาบถต่างๆ มาตกแต่ง โดยตั้งใจให้สอดคล้องกับฟังก์ชั่นห้องที่ต้องรองรับการใช้งานจากผู้คนที่หลากหลาย โดดเด่นและลงตัวกับเทคนิคการสะท้อนของเพดานกระจกเงาด้วยประติมากรรมสแตนเลสขนาดใหญ่ โดยถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์
แกลเลอรี่ - ห้องแสดงศิลปะ
แกลเลอรี่ ส่วนจัดแสดงงานศิลปะบนชั้น 5 ของอาคารคิวบิค ออกแบบเป็นห้องเพดานสูง ที่มีโดมหล่อคอนกรีตบนโครงสร้างเหล็กรูปตัวเอ๊กซ์ (X) กรุกระจกโดยรอบเพื่อรับแสงธรรมชาติ จัดแสดงผลงานจากศิลปินไทยหลากหลายท่าน อาทิ ก้องกาน, ครูปาน-สมนึก คลังนอก, ครูโต-ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, พัดยศ พุทธเจริญ, อินสนธิ์ วงศ์สาม, ยุรี เกนสาคู, เนียม มะวรคนอง, กมล ทัศนาญชลี, ไมเคิล เชาวนาศัย, มด-นิสา ศรีคำดี, พิณรี สันพิทักษ์ และ โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี