ห้องรุ่งอรุณของศิลปะไทย
ห้องสีเหลืองมัสตาร์ดดึงดูดสายตาผู้มาเยือนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงให้เห็นช่วงการผสมผสานและการถ่ายทอดแง่มุมศิลปะจากมุมมองความคิดตะวันตกมาสู่สยาม พร้อม ๆ กับการมีช่างทั้งทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมจากยุโรป สังคมศิลปะของเราได้ตอบรับเทคนิควิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมศิลปะของเรา ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 โดย ศักย ขุนพลพิทักษ์ที่ตั้งตระหง่านโดยมีโคมไฟระย้าในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้เห็นบรรยากาศของศิลปะในยุคนั้น และภาพวาดของ เหม เวชกร ที่เป็นตัวอย่างผลงานให้เห็นถึงการเรียนรู้เทคนิควิธีการจากตะวันตก เรื่องราวของนายช่างอิตาเลี่ยน คอราโด เฟโรจี หรือ ศิลป์ พีระศรี ผู้นำการเรียนการสอนแบบ Academy of Fine Art จากเมืองฟลอเรนซ์เข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้เกิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมและมหาวิทยาลัยศิลปากรจากนั้นมา ปรากฏเป็นผลงานการปั้นโดย ศิลป์ พีระศรี ผลงานของศิลปินที่อยู่ร่วมสมัยกับศิลป์ พีระศรี และผลงานของศิษย์ ศิลป์ พีระศรี อาทิ สมโภชน์ อุปอินทร์ เฉลิม นาคีรักษ์ ชลูด นิ่มเสมอ ช่วง มูลพินิจ ประพันธ์ ศรีสุตา สวัสดิ์ ตันติสุข อังคาร กัลยาณพงศ์ อินสนธิ์ วงศ์สาม จ่าง แซ่ตั้งและประกิต บัวบุศย์ ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานในยุคนั้นซึ่งเป็นต้นทางของศิลปะร่วมสมัย